eSport

ร่วมรับฟังแนวคิดใหม่เกี่ยวกับกีฬาอีสปอร์ต จากอธิการบดี และรองอธิการบดีสถาบันกันตนา

สวัสดีครับ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปเข้าร่วมชม การแข่งขันกีฬาอีสปอร์ต (RoV) เครือข่ายนิเทศศาสตร์ ซึ่งในปีนี้ทางสถาบันกันตนาได้เป็นเจ้าภาพในการจัดแข่งขัน และนี่เป็นครั้งแรกที่การแข่งขันกีฬาเครือข่ายนิเทศศาสตร์ ได้หยิบเอาเกมยอดฮิตอย่าง RoV มาจัดแข่งขันในรูปแบบการแข่งขันอีสปอร์ต ความน่าสนใจของการแข่งขันผมได้เคยนำเสนอไปแล้ว แต่วันนี้ผมมีอีกเรื่องราวดีๆ ที่ได้ังจากท่านอธิการบดี และรองอธิการบดีสถาบันกันตนา มาเล่าให้ฟัง ว่าทำไมถึงเป็นอีสปอร์ต รวมถึงแง่คิดดีๆ จากอีกมุมมองนึงที่น่าสนใจมากๆ เอาหละครับ ถ้ายังไงเรามาลองดูกันเลยดีกว่าครับ

Q: พูดถึงการแข่งขันกีฬาอีสปอร์ต (RoV) เครือข่ายนิเทศศาสตร์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปนัดดา ธนสถิตย์ : ที่มาของการแข่งขันกีฬาอีสปอร์ต (RoV) เครือข่ายนิเทศศาสตร์ ต้องท้าวความก่อนว่า “เครือข่ายนิเทศศาสตร์” หมายถึงมหาวิทยาลัยทั้งรัฐบาล และเอกชน ที่มีคณะนิเทศศาสตร์ ได้ร่วมมือกันทางด้านวิชาการ และกิจการนักศึกษา ในการจัดเครือข่ายของทุกมหาวิทยาลัยที่ศึกษาเกี่ยวกับนิเทศศาสตร์ สำหรับสถาบันกันตนา ไม่ได้มี  คณะนิเทศศาสตร์ แต่มีหลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต การผลิตภาพยนตร์ การผลิตแอนิเมชัน และการผลิตรายการโทรทัศน์เพื่อการสื่อสารข้ามสื่อ เราก็ร่วมอยู่ในเครือข่ายนิเทศศาสตร์ด้วย ปกติเครือข่ายนิเทศศาสตร์จะมีกิจกรรมที่ร่วมมือกันทางด้านศิลปะ-กีฬาอยู่แล้ว โดยแต่ละมหาวิทยาลัยจะเวียนเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรม อาจจะเป็นการถ่ายภาพ วาดภาพ ประมาณนี้ สถาบันกันตนาเองก็มีความเชี่ยวชาญทางด้านการผลิตภาพยนตร์ ผลิตอนิเมชั่น ผลิตรายการโทรทัศน์ เลยมีการฝึกฝนเพื่อนำไปแข่งขัน และตอนนี้สถาบันกันตนาก็มีการวางแผนจะเปิดหลักสูตรระยะสั้นที่เกี่ยวกับอีสปอร์ต ซึ่งในปีนี้เราได้เป็นเจ้าภาพอีกครั้ง เลยถือโอกาสจัดแข่งขันอีสปอร์ตขึ้นมาสำหรับเครือข่ายนิเทศศาสตร์ รวบรวมคนที่สนใจมาเข้าร่วมการแข่งขัน การที่เราเป็นเจ้าภาพและเลือกจัดแข่งขันอีสปอร์ต เพราะเราค่อนข้างมีความพร้อมในการจัดการ เนื่องจากเรามี บริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่คอยสนับสนุนสถาบันกันตนา จึงมีบุคลากรชำนาญการในวิชาชีพนี้พร้อมอุปกรณ์ต่างๆ เลยสามารถจัดการแข่งขันได้ นักศึกษาที่ให้ความสนใจมาแข่งขัน ก็เหมือนเป็นการกระชับมิตรกันระหว่างเครือข่ายนิเทศศาสตร์ และยังเป็นกีฬาที่สอดคล้องกับซีเกม 2019 ที่กำลังจะมาถึงด้วยค่ะ

Q: คิดยังไงกับคำว่าอีสปอร์ต

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปนัดดา ธนสถิตย์ : มันเป็นความทันสมัยในศตวรรษที่ 21 ซึ่งคนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ ด้วยความที่เป็น “Electronic” เด็กสมัยนี้ย่อมให้ความสนใจ ซึ่งทางอาจารย์เองที่เป็นคนรุ่นเก่าแล้วอาจจะตามไม่ค่อยทัน แต่อะไรที่ส่งเสริมไปในทิศทางที่ดีได้ก็อยากจะทำ เด็กแทบทุกคนก็เล่นกันอยู่แล้ว ในสมัยก่อนอาจจะมองว่าเด็กที่เล่นเกมคือเด็กติดเกม แต่ในสมัยนี้ไม่ใช่แล้ว มันเป็นกีฬา มันมีรางวัล การที่เด็กเล่นเกมไม่ใช่เด็กติดเกม เด็กจะมีเทคนิค กลยุทธิ์ที่น่าสนใจ เท่าที่กันตนาทำทีม Diamond Cobra ซึ่งมาจาก “รายการ King of Gamers” ปรากฎว่าเด็กที่สนใจในการแข่งมีเป็นแสนๆ คน จากทั่วประเทศ แล้วเด็กที่มาแข่งก็ไม่ใช่เด็กติดเกม หลายคนที่เข้ารอบลึกๆ ก็เป็นเด็กเรียนดี แม้ว่าจะมีทั้งเด็กเล็กและเด็กโต แต่ก็ไม่ใช่เด็กติดเกม เขาจะรู้วิธีการแบ่งเวลาว่าอะไรควรเป็นยังไง เขาก็คือเด็กที่อาจจะไม่ได้ชอบเตะฟุตบอล แต่ชอบที่จะมาเล่นเกมแทน

Q: มีความคิดเห็นยังไงที่ยังมีคนมองว่าอีสปอร์ตไม่ใช่กีฬา แต่เป็นแค่เกม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปนัดดา ธนสถิตย์ : คิดว่าก็คงมีแหละค่ะ เด็กที่นั่งเล่นเกมโดยไม่สนใจอะไร ไม่มีวินัย พ่อ-แม่ก็ไม่รู้ว่าลูกทำอะไร และในสายตาอาจจะมองว่านี่เป็นแค่การเล่นเกม นอกจากสนุกแล้ว ความสำคัญอย่างอื่นอยู่ตรงไหน? นั่นก็คือ  “ความไม่เข้าใจ” ความไม่เข้าใจนี่แหละที่เป็นตัวตัดสินทางสังคม ซึ่งในยุคนี้มีการพัฒนาการทางด้านเกมไปในทิศทางที่ดีขึ้น น่าจะเป็นพื้นที่ที่เด็กรุ่นนี้เข้าใจ แต่คนรุ่นเก่าๆ อาจจะไม่เข้าใจมากนัก แต่ในสายตาเราก็รู้สึกว่าไม่มีอะไรเสียหาย ถ้าเด็กรู้จักแยกแยะได้ดี

Q: ทิศทางของอีสปอร์ตบ้านเราในอนาคต

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ขวัญเรือน กิติวัฒน์ : ต้องยอมรับว่าเด็กที่เกิดมาในยุคนี้ เขามาพร้อมกับเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปแล้วมากๆ และทุกอย่างเป็นไปในทิศทางของคอมพิวเตอร์เกม อิเล็คทรอนิกส์เกม การเล่นเกมในโลกเสมือน ในอดีตเราส่งจดหมาย เดี๋ยวนี้พัฒนาเป็นอีเมลล์ เพราะฉะนั้นพอมาเริ่มเล่นเกม มันเป็น “Simulation” รูปแบบหนึ่งในเรื่องของการแข่งขัน สมมุติว่า มีการแข่งขันฟุตบอล แต่เราไม่ได้เตะเอง เราเล่นในเกมแทน เป็นส่วนหนึ่งที่นำมาปรับสำหรับทางเลือกของเด็กยุคนี้ มันก็จะมีทั้งข้อดีและข้อเสีย เมื่อเทคโนโลยีเข้ามาเราก็ไม่สามารถห้ามได้ ผิดกับต่างประเทศที่เป็นที่นิยม เด็กๆ ก็ชอบ การที่เรามาจัดแข่งขันอีสปอร์ตตรงนี้ ก็เพื่อให้เด็กเข้าใจว่ามันคืออะไรและมันดีอย่างไร เป็นการแข่งขันเกมได้อย่างไรภายใต้กติกาแบบนี้ เราใช้มันเพื่อให้เกิดประโยชน์จริงๆ ซึ่งถ้าเราไม่ยอมเปิดกว้าง เด็กก็ไม่มีพื้นที่ ต้องไปแอบเล่นอะไรประมาณนี้ จึงคิดว่า ถ้าเราบอกว่าสิ่งนี้ไม่ต้องแอบเล่นนะ แต่เล่นได้ภายใต้กติกาที่เหมาะสม เล่นให้ถูกกาละเทศะ ไม่ใช่แค่สนุกสนาน เราก็ต้องมองด้วยว่าคำว่าสนุกสนานนี้ได้ประโยชน์อะไร มีข้อดี ข้อเสียแบบไหน ถ้าเขามีฝีมือ เขาก็ต้องใช้ให้เป็น นั่นจะเป็นการฝึกทักษะที่ดี ที่สำคัญต้องรู้แพ้ รู้ชนะ ในอนาคตเด็กที่เรียนมาทางด้านคอมพิวเตอร์ จะสามารถสร้างเกมเองได้ อาจไปแข่งขันเกมที่สร้างขึ้นมา และเป็นที่ยอมรับ ก็น่าจะเป็นอีกก้าวหนึ่งที่น่าจับตา ส่วนเด็กที่ไม่ได้เรียนมาทางด้านนี้ ก็สามารถมาสร้างสรรค์และพัฒนาตัวเกม ว่าต้องเป็นแบบไหนถึงจะออกมาดีและเล่นสนุก ออกแบบตัวละครแบบไหนที่คนจะชอบ สร้างฉากอย่างไรให้สวยงาม เพราะฉะนั้น คนที่เรียนมาทางด้านแอนิเมชัน ก็จะมีช่องทางในการทำงานเพิ่มมากขึ้น อาจารย์มองว่ารัฐบาลควรสนับสนุนด้านนี้ ถ้าเด็กประเทศอื่นทำได้ เด็กไทยก็ทำได้ จะเป็นรายได้จากฝีมือเด็กไทยเอง ยกตัวอย่างเช่นกีฬาชกมวย เห็นได้บ่อย แล้วมวยไทยเป็นที่นิยมมากๆ ในต่างประเทศ ถ้าเราสร้างเป็นเกมมวยไทยขึ้นมา ก็อาจจะไปได้ไกลมากนะคะ

Q: ทางกันตนารวมทีมแข่งขันกันมาได้ยังไง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปนัดดา ธนสถิตย์ : ต้องถามว่าตอนนี้ทางสถาบันกันตนามีใครบ้างที่ไม่เล่นบ้าง (หัวเราะ) การรวมทีมไม่ยากเลยค่ะ เด็กๆ ทุกชั้นปีการศึกษาเขาสนใจ ก็เลยรวมทีมกันมาเอง ฝึกฝน ฝึกซ้อมกันเองเลยค่ะ

Q: แนวทางการสนับสนุนของทางสถาบันต่อเด็กๆ ที่มาร่วมแข่งขัน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปนัดดา ธนสถิตย์ : ในเรื่องการแข่งขัน ถ้านักศึกษาอยากเป็นนักกีฬาอีสปอร์ตต่อไป ทางเราก็ไม่ได้ขัดอะไร แค่อย่าเสียการเรียนก็แล้วกัน อย่างที่สองคือในภาพรวมของอีสปอร์ตมันไม่ใช่แค่การแข่งขัน อย่างที่บอกมันมีเบื้องหลัง อะไรมากมาย ที่สอดคล้องกับหลักสูตรการเรียนการสอนของเรา หรือการจัดอีเวนท์การแข่งขันอีสปอร์ต แม้แต่การถ่ายทอดการแข่งขันอีสปอร์ต มันก็เป็นหลักสูตรหนึ่งในการเรียนการสอน ซึ่งจริงๆ มีหลายส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับกีฬาอีสปอร์ต มันเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และทางเรายินดีสนับสนุนค่ะ เพื่อให้คนที่อยากทำงานสายอีสปอร์ตไม่ว่าจะเป็นนักแข่ง นักพากษ์ หรืออะไรก็ตามรู้ถึงทุกมิติของการทำงานค่ะ

Q: ในอนาคตกันตนามีแผนจะส่งออกนักกีฬาอีสปอร์ตภายใต้ชื่อของกันตนาไหม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปนัดดา ธนสถิตย์ : จริงๆ เรามี Diamond Cobra ที่เป็นทีมของเราแล้ว เพียงแต่ตั้งชื่อให้ติดหูมากขึ้นค่ะ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ขวัญเรือน กิติวัฒน์ : ต้องบอกว่ามี 2 ระดับนะคะ สำหรับ Diamond Cobra นี่เป็นระดับชาติ แต่การจัดแข่งขันที่ทำอยู่นี้ เป็นการแข่งขันกีฬาระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งเราคิดว่าเรามาปรับให้ทันสมัยหน่อย อาจจะไม่ใช่การแข่งขันฟุตบอล วิ่ง หรือชกมวย แต่เราเปลี่ยนมาเป็นอีสปอร์ตแทน คิดว่าในอนาคตทุกมหาวิทยาลัยคงตื่นเต้นกันมาก แต่ก็มีหลายมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้ส่งมาซึ่งเขาก็เสียดาย แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมด้วย เรารู้สึกว่าแนวโน้มการจัดแข่งขันอีสปอร์ตแบบนี้มันดีจริงๆ ค่ะ

Q: มีแผนการจัดแข่งขันในอนาคตไหม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปนัดดา ธนสถิตย์ : ทางสถาบันกันตนาที่เราจัดครั้งนี้ก็ถือว่าเป็นกีฬาสาธิต ต้องขอดูก่อนว่าผลออกมาจะเป็นอย่างไร ถ้าผลตอบรับดี เราคิดว่าจะจัดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ขวัญเรือน กิติวัฒน์ : จริงๆ ส่วนหนึ่งที่เราจัดครั้งแรกเพราะเราอยากสอนเด็กให้รู้จักการถ่ายทำรายการ ถ่ายทอดรายการ เราสอนให้เด็กรู้จักประกอบสร้างให้คนรู้จัก ซึ่งรายการแข่งขันนี้จะทำให้เด็กได้เรียนรู้กระบวนการผลิต การลงมือผลิต และดูว่าเค้าทำหน้าที่ได้ไหม ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ก็ส่งเสริมให้มีการแข่งขันมากขึ้น เพราะเด็กเราไม่ได้จะเป็นแค่นักกีฬาเท่านั้น แต่จะเป็นผู้อยู่เบื้องหลังในการจัดทำให้เกิดขึ้นมา และทำให้คนรู้จักเพิ่มมากขึ้น ในยุคที่เปิดกว่้างแล้ว เราอยากให้เด็กของเรานำเสนออีสปอร์ตให้คนได้เห็นมุมดีๆ มากกว่าค่ะ

Q: นอกจาก RoV แล้ว คิดจะจัดการแข่งขันเกมอื่นๆ อีกไหม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปนัดดา ธนสถิตย์ : ก็ต้องดูในอนาคตก่อนนะคะ แต่เราก็พอทราบของกระแสเกมที่กำลังนิยมกันอยู่ ยังไงก็คงต้องติดตามกันค่ะ

Q: มีความคิดเห็นยังไง ที่ยังมีคนมองว่าอีสปอร์ตบางเกมรุนแรง ไม่เหมาะสมกับการนำมาแข่งขัน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปนัดดา ธนสถิตย์ : โดยส่วนตัวมองว่าเป็นความชอบของเด็กแต่ละคนมากกว่า ทำไมบางคนชอบเกมนี้ แล้วอยากแข่งเกมนี้ มันขึ้นอยู่กับตัวบุคคลเอง เด็กทุกคนอาจจะไม่ชอบเล่นฟุตบอล แต่ชอบเล่นกีฬาอื่นๆ ที่มีแนวทางที่ต่างไป ขึ้นอยู่กับรสนิยมของคน การทำเกมอะไรขึ้นมาก็เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เล่นหลากหลายประเภทค่ะ

Q: กล่าวทิ้งท้ายถึงคนที่มีความฝันอยากเดินมาเส้นทางของอีสปอร์ต

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปนัดดา ธนสถิตย์ : ถ้าจะเป็นนักกีฬา ต้องรู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย นี่คือเรื่องสำคัญสำหรับชีวิตนักกีฬา และต้องมีการฝึกฝน ยกตัวอย่างนักกีฬาอีสปอร์ตของทางกันตนาอย่าง Diamond Cobra เขาก็ฝึกฝนทุกวัน เหมือนกีฬาอื่นๆ เลยค่ะ ต้องมีผู้ควบคุมที่ดี แผนการฝึกซ้อมที่ดี สำหรับคนที่อยากเป็นนักกีฬา ที่สำคัญต้องมีเป้าหมาย และความอดทน พยายามค่ะ

เป็นยังไงกันบ้างครับ เป็นอีกเรื่องราวที่น่าสนใจมากๆ เราไม่ค่อยได้ยินแนวคิดทางอีสปอร์ตจากมุมมองของเหล่าอาจารย์กันซักเท่าไหร่ ผมเลยเอาโอกาสดีๆ แบบนี้มานำเสนอให้เหล่าเกมเมอร์ได้ดูกัน และหวังว่าเกมเมอร์ทุกคนจะได้รับแง่คิดดีๆ จากการพูดคุยในครั้งนี้นะครับ

Tags
Show More

BlacKKaT

ความสุขของการเขียน คือคนอ่านสนุกไปกับมัน ^^
Close
Close