จริงๆก่อนจะเข้าสู่บทความ ต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนเลยว่า ตัวเกม DOTA Underlords นั้น ยังคงอยู่ในช่วงเบต้าเทส ซึ่งระบบต่างๆอาจจะเข้ามาไม่ครบ ไม่ว่าจะเป็นแรงค์ ร้านค้า และอื่นๆที่ยังไม่เปิดเผยให้ทราบ แต่ในส่วนของอินเตอร์เฟส และเกมเพลย์ก็คงจะไม่ต่างไปจากนี้มาก ยังไงหากบทความนี้จะทำให้แฟนเกมรู้สึกถึงความไม่เป็นกลางในบางกรณี ทีมงานจึงขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยนะครับ
ในชั่วโมงนี้ คงไม่มีใครไม่เล่นเกมกระดานหมากรุกแนวใหม่ ที่หลายคนอาจจะรู้จักกันดีในชื่อ Auto Chess เป็น Mod ในเกม DOTA2 ที่ภายหลัง Drodo Studio ผู้พัฒนา ก็ได้ออกมาทำแยกเป็นเกมของตัวเอง และหลังจากนั้นไม่นาน Valve ผู้พัฒนาเกม DOTA2 ก็ออกเกมใหม่ตามมาติดๆ ในชื่อ DOTA Underlords เกมแนว Auto Chess ที่ยกโมเดลตัวละครจาก DOTA2 มาทั้งดุ้น!! เอาเป็นว่า หากใครที่ยังไม่รู้ว่าทั้ง 2 เกมเป็นยังไง สามารถไปอ่านที่มาที่ไป และทำความรู้จักเกมคร่าวๆกันก่อน คลิกที่นี่
หลายคนอาจจะสงสัย ว่าแล้วสองเกมนี้มีความแตกต่างกันยังไง วันนี้ผมจะพาทุกคนมาหาคำตอบกัน ปล.ตัวเกมทั้งสองผมใช้ iPad Pro 10.5 ในการเทสนะครับ และกดที่ภาพ จะขยายใหญ่ให้ กรณีที่ใครอาจจะเห็นไม่ชัด
INTERFACE
หน้าจออินเตอร์เฟสของทั้งสองเกมมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยเกม Auto Chess นั้นจะมีความเป็นสามมิติ สดใจ ปุ่มและการใช้งานต่างๆจะถูกปัดไปอยู่ที่ขอบซ้ายขวาทั้งหมด เหลือตรงกลางเป็นมาสคอสที่สามารถเปลี่ยนได้(หากมี) ส่วนตัวเกม DOTA Underlords นั้น จะเน้นเรียบง่าย เหมือนเอา DOTA2 และ Artifact มารวมกัน
ในส่วนของการตั้งค่านั้น DOTA Underlords จะมีหน้าจอการตั้งค่าที่ดูเหมือนยกเอาเวอร์ชั่นพีซีมาเลย เหมือนกันหมด อีกทั้งยังสามารถเลือกได้ว่าจะใช้ยูไอแบบพีซี หรือสมาร์ทโฟน ส่วน Auto Chess นั้น จะมีการปรับตั้งค่าต่างๆเหมือนเกมสมาร์ทโฟนทั่วไป มีการปรับความละเอียด เฟรมเรท และรายละเอียดยิบย่อยมากกว่า
หน้าจอโปรไฟล์ที่มีใน Auto Chess แต่ยังไม่มีใน DOTA Underlords ไม่แน่ใจว่าในเวอร์ชั่นเต็มก็น่าจะมีรึเปล่า? โดยใน Auto Chess นั้น จะมีรายละเอียดเกี่ยวกับตัวผู้เล่น ไม่ว่าจะเป็นแรงค์ที่อยู่ สถิติ จำนวนการเล่น การชนะ ลำดับเฉลี่ย อีกทั้งยังเปลี่ยนรูปโปรไฟล์และมาสคอสได้ที่ส่วนนี้เช่นกัน
CHESS PIECES
ตัวหมากถือเป็นไฮไลท์สำคัญของเกมแนวนี้ ซึ่งถึง 2 เกมมีการออกแบบยูนิตที่ต่างกันออกไปอย่างสิ้นเชิง โดยเกม DOTA Underlords นั้น ได้ทำการยกโมเดลตัวละครจากเกม DOTA2 มาเลย ส่วน Auto Chess นั้น ได้ปั้นตัวละครขึ้นมาใหม่ แต่ก็อ้างอิงตัวละครจากเกม DOTA2 มาเยอะพอสมควร เพื่อให้ง่ายต่อผู้เล่นที่มาจาก Mod ในเกม DOTA2 ที่ไม่ต้องมาเรียนรู้ใหม่ ว่าตัวละครไหน มีความสามารถอะไร สกิลเป็นแบบไหน
เรื่องความสวยงามของโมเดลนั้นอยู่ที่ว่าใครชื่นชอบแนวไหน ถ้าแนวเกรียนๆ ชิบิ ดินน้ำมัน ดูเข้าใจง่าย ไม่มีดีเทลอะไรมาก ก็น่าจะชอบ Auto Chess แต่หากชอบตัวละครในเกม DOTA2 อยู่แล้ว อยากเห็นอะไรที่คุ้นเคย เอฟเฟ็คแสงต่างๆในตัวละคร บอกได้เลยว่า ต้องหันมาดูฝั่ง DOTA Underlords
ถึงแม้ว่าจะคนละเกมกัน แต่จุดเริ่มต้นก็เหมือนมาจากที่เดียวกัน เพราะฉะนั้นความสามารถต่างๆของยูนิตแต่ละตัวจึงเหมือนกันซะส่วนใหญ่ จะแตกต่างก็ตรงที่ เกม Auto Chess นั้น เวลาพัฒนาจาก 1 ดาวไป 2 ดาวและ 3 ดาวนั้น จะเปลี่ยนรูปร่างไปทั้งหมด แต่ใน DOTA Underlords จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แค่มีขนาดตัวที่ใหญ่ขึ้นเท่านั้นเอง
นอกจากการสังเกตดาวแล้ว การเปลี่ยนรูปร่างยูนิตไปตามการพัฒนาร่าง ทำให้ Auto Chess ดูมีลูกเล่นที่น่าสนใจกว่า แต่ถึงอย่างไรก็ตาม หากใครที่ชื่นชอบความอลังการ มีแสงมีเอฟเฟ็คเวอร์ๆ อาจจะชอบ DOTA Underlords มากกว่า ถึงแม้ว่าการพัฒนาร่างจะไม่มีอะไรเปลี่ยนนอกจากขนาดที่ใหญ่ขึ้นก็ตาม
อีกอย่างที่คล้ายกัน ก็คือสแต็กของตัวละครหรือถ้าเรียกตาม DOTA Underlords ก็คือ “พลังผสาน” เป็นความสามารถที่จะได้รับหากมีตัวละครเผ่าหรืออาชีพนั้นซ้ำๆ ตามจำนวนที่กำหนด ก็จะได้รับความสามารถเพิ่มเติม เช่น หากมีอาชีพนักรบบนสนาม 9 ตัว จะได้รับเกราะเพิ่มขึ้นอีก 9 หน่วย เป็นต้น
ITEM SYSTEM
ทั้ง 2 เกมนั้น มีระบบไอเทมเหมือนกัน แต่รูปแบบการใช้งานและวิธีได้รับไม่เหมือนกัน โดย Auto Chess นั้นจะเป็นของแบบสวมใส่ทั้งหมด แต่ DOTA Underlords จะแบ่งของออกเป็น 2 แบบ คือแบบส่วมใส่ และแบบพาสซิพ แสดงผลเลยโดยไม่ต้องใส่ไอเทมให้ตัวละคร
มาดูความแตกต่างที่ถือเป็นจุดพีคสำคัญของตัวเกมกันบ้าง เริ่มกันที่ Auto Chess ใน 1 ตัวละครที่เรานำมาวางบนกระดานนั้น เราสามารถใส่ไอเทมให้ได้สูงสุดถึง 6 ชิ้น แต่ใส่แล้วจะใส่เลย ไม่สามารถสลับไปใส่ตัวอื่นในระหว่างเล่นได้ อีกทั้งไอเทมเหล่านั้นยังสามารถหลอมเพื่อเพิ่มความสามารถได้ หากมีไอเทมที่สามารถหลอมได้ เพิ่มเข้ามาในระหว่างเล่น ส่วนวิธีการได้รับไอเทมนั้น จะได้ตอนรอบสู้กับคีฟ และจะสุ่มได้รับ โดยที่เราไม่สามารถเลือกไอเทมที่ต้องการได้
ส่วนของ DOTA Underlords นั้น ทุกครั้งที่ถึงรอบสู้กับคีฟและจบรอบ เราจะได้สิทธิ์ในการเลือกไอเทม 1 ใน 3 ชิ้น แต่หากเราเคลียร์คีฟในรอบนั้นไม่หมด สิทธิ์ในการเลือกไอเทมก็จะถูกลดลงไปด้วย ข้อดีคือเรามีโอกาสเลือกไอเทมที่เราอาจจะกำลังอยากได้ หรือไอเทมนั้นอาจจะช่วยพลิกเกมได้เลยก็เป็นได้ อ่านมาถึงตรงนี้ อาจจะมองว่าแบบนี้ระบบไอเทมของเกมนี้ก็น่าจะน่าสนใจกว่ารึเปล่า?
มีอีกสิ่งที่ผมยังไม่ได้บอก นั่นก็คือเกมนี้ สามารถใส่ไอเทมให้ตัวละครได้เพียง 1 ชิ้นต่อ 1 ตัวเท่านั้น!! ซึ่งดูแล้วอาจจะไม่พอ แต่ถ้ามองในอีกแง่หนึ่ง ด้วยความที่เกมนี้มีไอเทมหลายชิ้น ที่แสดงผลเอฟเฟ็คได้เลยโดยที่ไม่ต้องใส่ ลองนึกภาพดู ว่าหากเรามีไอเทมประเภทนี้สัก 5 ชิ้น ก็เท่ากับว่าตัวละครบนกระดานทั้งหมดมีความสามารถ 5 อย่างนี้ทุกตัวเลยทีเดียว!!
GAMEPLAY
เริ่มต้นที่การเลือกซื้อยูนิตมาเพื่อใช้เล่นบนกระดาน ทั้ง 2 เกมจะมีหน้าตาที่คล้ายกันเลย คือหน้าร้านสำหรับซื้อยูนิตจะขึ้นมาที่ด้านบน ส่วนยูนิตที่เรามีจะอยู่ด้านล่าง สามารถซื้อมาดองได้สูงสุด 8 ตัว และวางบนกระดานได้มากตามจำนวนเลเวล
บน Auto Chess นั้น ด้วยความที่ยูนิตไม่มีแสงสีอะไรมาก ทำให้แสงที่อยู่เป็นพื้นหลังเพื่อบอกระดับอย่างสีน้ำเงิน ม่วง ส้ม ได้อย่างชัดเจน และแสงที่บ่งบอกว่าตัวละครมีครบพร้อมพัฒนาร่าง เป็นแสงสีทองๆ ก็เห็นเด่นชัด
อีกทั้ง ไลบรารี่ก็สามารถกดดูได้ง่าย และเป็นคนละอย่างกับที่เราดูที่หน้าจอหลัก คล้ายๆว่าเป็นแบบย่อ มีไอคอนให้เข้าที่มุมจอเลย สามารถเข้ามาเช็คได้ ว่าตอนนี้เราขาดตัวอะไร หรือจะเอาตัวอะไร มาคอมโบกับตัวอะไร ก็ดูได้ง่ายๆครับ
ทีนี้เรามาดูฝั่ง DOTA Underlords บ้าง ส่วนที่ผมชอบมากในเกมนี้ที่ Auto Chess ไม่มี ก็คือการโยงเส้นยูนิตที่สแต็กกัน ซึ่งขึ้นมาตลอดไม่ว่าจะเป็นตอนจะเอายูนิตวาง เอาออก ขาย ทำให้เราดูได้ตลอดว่าตัวนี้ถ้าจะขายทิ้งหรืออะไรยังไง ก็ตัดสินใจจากเส้นนี้ได้เลย
นอกจากเส้นแล้ว หากเรากดที่ไอคอนของสแต็กอาชีพ จะมีแสงของยูนิตนั้นแสดงขึ้นมาที่เท้าเลย ซึ่งสีนั้นเห็นเด่นชัดมาก ต่างจากของ Auto Chess ที่เป็นวงกลมสีฟ้าบางๆ ออกจะดูลำบาก โดยเฉพาะเวลาเล่นบนสมาร์ทโฟนจอไม่ใหญ่มาก อีกสิ่งที่ผมอยากให้เกมนี้แก้ไข ก็คืออินเตอร์เฟสตอนเล่นเกมของเกมนี้มันดูซับซ้อนไปนิด ดูมีความซ่อนในซ่อน ทั้งๆที่ก็มีพื้นที่บนจอเหลืออีกตั้งเยอะ
GHAPHIC
ต้องบอกว่าในช่วงเบต้าเทสนี้ ดูเหมือนทาง DOTA Underlords จะเน้นหนักไปที่เวอร์ชั่นพีซีมากกว่า แต่เวอร์ชั่นสมาร์ทโฟนเหมือนพอร์ตมาอีกทีนึง ซึ่งถ้าเทียบกราฟฟิคกันระหว่างเวอร์ชั่นพีซีและสมาร์ทโฟนก็ค่อนข้างต่างกันพอสมควร แต่ก็ยังได้อารมณ์ที่สนุกอยู่ เพราะมีเอฟเฟ็คสกิลที่เหมือนกับเกม DOTA2 เลย บางตัวโจมตีศัตรูทีเลือดก็พุ่งเต็มกระดาน เรียกได้ว่าใครที่ชอบแนวแบบมันส์ๆ สะใจๆหน่อย ก็ต้องเกมนี้เลยครับ ในส่วนของความลื่นไหลและความเสถียรขอยังไม่พูดมาก เพราะยังเป็นเวอร์ชั่นเบต้าเทสอยู่เนอะ
ส่วนของ Auto Chess นี่ ต้องบอกว่าต่างกันอย่างสิ้นเชิง เหมือนตัวเกมถูกออกแบบมาให้เล่นบนสมาร์ทโฟนเป็นหลักอยู่แล้ว บอกตามตรงว่าเวอร์ชั่นพีซีนั้นทีมงานยังไม่ได้สัมผัส เพราะตัวเกมยังไม่ปล่อย ก็ขอข้ามไปก่อน ในส่วนของกราฟฟิคเกมนี้นั้น จะไม่ได้ดูโหดเหมือน DOTA Underlords แต่จะเน้นไปที่ความสบายตา เล่นได้เรื่อยๆ
สรุปจุดเด่นที่น่าสนใจของทั้งสองเกม
DOTA UNDERLORDS
- เกมเพลย์เร้าใจ เอฟเฟ็คต่อสู้ดุเดือด
- เกมเร็วกว่า
- หน้าตาตัวละครที่คุ้นเคย
- ระบบไอเทมแปลกใหม่
- ระบบเพื่อนเชื่อมกับ Steam ไม่ต้องแอดกันใหม่
- ใช้พื้นที่น้อยกว่า(เวอร์ชั่นเบต้าเทส)
- ทุกแพลตฟอร์มเชื่อมหากันหมด
AUTO CHESS
- ภาพเกมสบายตา
- ปรับแต่งสิ่งต่างๆไม่ว่าจะเป็นมาสคอส สนาม เอฟเฟ็คต่างๆ
- เข้าถึงกลุ่มผู้เล่นทั้งเด็กและผู้ใหญ่
- ระบบสมบูรณ์กว่า
เรียกได้ว่าน่าสนใจทั้งคู่ ทั้ง 2 เกม ก็มีสไตล์ที่แตกต่างกันออกไป อยู่ที่ว่าผู้เล่นจะชื่นชอบสไตล์ไหนนะครับ สำหรับ DOTA Underlords นั้น หากเวอร์ชั่นเต็มมาเมื่อไหร่ ทีมงานจะเข้ามาอัพเดตข้อมูลเพิ่มเติมให้นะครับ แฟนๆเกมอย่าพึ่งน้อยใจไป