การีนาเดินหน้าเผยแพร่ เสน่ห์ไทย ให้โลกจดจำ ปล่อยสกิน PHI TA KHON HAYATE
อวดโฉม “ผีตาโขน” ในบทบาท “นักสู้” ผู้หวงแหนในคุณค่าความเป็นไทย
หลังจากที่ โครงการแข่งขันออกแบบชุดตัวละครหรือสกิน (Skin) ‘RoV Design Contest’ ปีที่ 2 ภายใต้แนวคิด “สกินไทย หัวใจแครี่” ซึ่งบริษัท การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด จัดขึ้นร่วมกับ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม จบลงไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อปีที่ผ่านมา ในปี 2563 นี้ การีนา (ประเทศไทย) ปักธงปล่อยสกิน “PHI TA KHON HAYATE” (ผีตาโขน ฮายาเตะ) อย่างเป็นทางการในวันที่ 2 เมษายนนี้บนเซิร์ฟเวอร์ไทยเป็นที่แรก และจะปล่อยสกินนี้เพื่อให้บริการใน server ทั่วโลกเร็วๆ นี้ ตอกย้ำความภาคภูมิใจที่ฝังรากอยู่ ในใจคนไทยทุกรุ่น พร้อมเผยแพร่เสน่ห์ของวัฒนธรรมไทย ซึ่งเป็นหนึ่งเดียวในโลก สู่สายตาคนรุ่นใหม่และเกมเมอร์ในระดับนานาชาติ
นายกฤตย์ พัฒนเตชะ Head of Garena Online (Thailand) Co., Ltd. กล่าวว่า “แม้การประกวดจะจบลงไปแล้ว การีนา (ประเทศไทย) ยังมีความตั้งใจเป็นอย่างยิ่งที่จะส่งเสริมให้เยาวชนไทยได้เห็นถึงความน่าภาคภูมิใจของวัฒนธรรมไทย และปลุกความหวงแหนที่มีต่อวัฒนธรรมประจำท้องถิ่น เพื่อสืบสานต่อยอด “มรดกทางวัฒนธรรม” ให้คงอยู่จากรุ่นสู่รุ่น นอกจากนี้ เรายังต้องการให้ชาวต่างชาติได้ลองสัมผัสเสน่ห์ของประเทศไทยในแง่มุมประเพณีท้องถิ่นดั้งเดิมที่จะสามารถพบได้แค่ในประเทศไทยเพียงที่เดียวเท่านั้น ดังนั้น เราจึงทุ่มเทในการผลักดันการออกแบบตัวละคร “ผีตาโขน ฮายาเตะ” อย่างเต็มที่ให้พร้อมเปิดตัวในช่วงสงกรานต์นี้ อีกทั้งยังมีการจัดทำออนไลน์แคมเปญเพื่อกระตุ้นให้ผู้คนตระหนักถึงคุณค่าของเอกลักษณ์ไทย อย่างเช่น ประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน ที่ผูกพันกับชีวิตของคนไทยในอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย มาเนิ่นนาน ไม่ว่าจะในยุคสมัยไหนก็ตาม โดยมีการใช้ภาพยนตร์สารคดีมาเป็นตัวชูโรง”
นายสุธาเทพ จะปะกียา (คุณนัท) ผู้ออกแบบสกิน “PHI TA KHON HAYATE” (ผีตาโขน ฮายาเตะ) ยังเปิดเผยว่า “แรงบันดาลใจในการออกแบบมาจากภาพประทับใจสมัยเด็กที่ได้เห็นขบวนแห่ผีตาโขนผ่านโทรทัศน์ เนื่องจากตัวผมเองเล่นเกมด้วยตั้งแต่ในยุคนั้น เลยเกิดเป็นความคิดว่าหากผีตาโขนได้เข้าไปอยู่ในเกมคงจะเท่ดีไม่น้อย เพราะมีทั้งความสดใสและดุดันอยู่ในตัว เมื่อโตขึ้นมาก็ชอบออกแบบตัวละคร วาดการ์ตูน และยังเล่นเกมด้วยเพื่อผ่อนคลายความเครียดจากการทำงาน จึงตัดสินใจนำแรงบันดาลใจในวัยเด็กมาพัฒนาเป็นสกิน “ผีตาโขน ฮายาเตะ” ขึ้นมา”
“เนื่องจากผีตาโขนจะออกมาเดินบนถนนอยู่แล้ว ผมจึงตัดสินใจให้ตัวละครนี้ใส่ชุดแนวสตรีทที่มีความร่วมสมัยเสียเลย ทั้งนี้ ยังไม่ทิ้งลายไทยซึ่งอยู่ในรายละเอียดต่างๆ ทั้งบนเครื่องแต่งกายและเอฟเฟกต์ที่จะแสดงออกมาเมื่อตัวละครใช้สกิลในเกม RoV โดยเชื่อมั่นว่าการนำจุดเด่นในประเพณีท้องถิ่นมาประยุกต์ให้ทันสมัยจะสามารถทำให้วัฒนธรรมดั้งเดิมเข้าถึงวัยรุ่นและชาวต่างชาติได้มากขึ้น และหวังว่า “ผีตาโขน ฮายาเตะ” จะสามารถเพิ่มความสนุกให้กับผู้เล่น RoV ทุกคน” นายสุธาเทพ กล่าวเพิ่มเติม
สกิน “PHI TA KHON HAYATE” (ผีตาโขน ฮายาเตะ)
จะเป็นอีกช่องทางที่แฟนเกมทุกคนสามารถเข้ามาร่วมแสดงออกถึงความภาคภูมิใจใน
ความเป็นไทยได้ ซึ่ง RoV จะเปิดให้ทุกคนได้ร่วมเป็นเจ้าของสกินได้ผ่านกิจกรรมสกินไทยหัวใจแครี่
โดยให้ผู้เล่นทุกท่านทำการสะสมรูปภาพทั้งหมด 12 รูป ผู้เล่นสามารถรับสิทธิ์ในการปลดล็อกรูปภาพได้โดยการเล่นเกมในโหมดใดก็ได้
3 ครั้งต่อวัน และสามารถรับสิทธิ์สุ่มได้อีก 2 ครั้งในวันนั้นเมื่อแชร์รูปที่ผู้เล่นมีซ้ำอยู่แล้ว เมื่อทำการปลดล็อกรูปภาพครบ 12 รูป สามารถรับสกิน “ผีตาโขน ฮายาเตะ” ฟรีทันที!
ร่วมสนุกได้ตั้งแต่วันที่ 2 – 22 เมษายน 2563
นี้
ผู้ที่สนใจสามารถรับชมผลงานการออกแบบจากโครงการแข่งขัน ‘RoV Design Contest’ ได้ทาง
แฟนเพจ Facebook: Garena RoV Thailand และเว็บไซต์: https://designcontest.rov.in.th/
เกี่ยวกับสกิน ‘PHI TA KHON HAYATE’ ผลงานชนะเลิศอันดับ 1 จากโครงการแข่งขัน ‘RoV Design Contest’ ปีที่ 2
สกิน ‘PHI TA KHON HAYATE’ เป็นผลงานการออกแบบของคุณสุธาเทพ จะปะกียา มีแรงบันดาลใจในการออกแบบจาก ‘ประเพณีผีตาโขน’ ประเพณีท้องถิ่นในชุมชนเล็กๆ ในจังหวัดเลยของประเทศไทย โดยมุ่งผสมสานความดั้งเดิมและความร่วมสมัย เพื่อให้เกิดดีไซน์สกินที่แปลกใหม่ขึ้นมา เช่น การนำเครื่องแต่งกายของผีตาโขนมาประยุกต์เป็นเครื่องแต่งกายแนวสตรีท โดดเด่นด้วยเสื้อคลุมมีฮู้ดสีขาวและกางเกงฮาเร็มมีลูกเล่นที่ความยาวของขากางเกง สอดแทรกด้วยลวดลายของผ้าลายไทยโมเดิร์น ที่บริเวณเอวมีผ้าไทยสีแดงโบกสะบัดและเข็มขัดที่ประดับด้วยกระดิ่งสีทอง เพื่อให้เกิดเสียงดังระหว่างการเคลื่อนไหว เครื่องแต่งกายของ HAYATE จะใช้โทนสีดำเพื่อสื่อถึงความลึกลับ สีขาวเพื่อสื่อถึงความเชื่อ ความศรัทธา สีแดงเพื่อสื่อถึงความสนุกสนาน โดยทั้ง 3 สีนี้ ยังเป็นสีดั้งเดิมที่ใช้ในการประดับตกแต่งหน้ากากผีตาโขนของไทยในสมัยโบราณอีกด้วย